ชีวิตมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ



love is the flower for which love is the honey : victor hugo

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลักความเชื่อ ของ พระพุทธเจ้า หลักกาลามสูตร ( เกสปุตติยสูตร )

เป็นหลักการแห่งความเชื่อ หรือ ทฤษฎี ความเชื่อ ของ พระพุทธเจ้า ที่ท่านให้ใช้การพินิจพิจารณาด้วยปัญญา แล้วจึงค่อยตัดสินใจเชื่อ กาลามสูตร


(กาลามสูตร เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือ เกสปุตตสูตร) สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน ชาวกาลามะ แห่งเกสปุตตนิคม ในแคว้นโกมล ประเทศอินเดีย ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผล ซึ่งมี หลักการ 10 ข้อ ดังนี้


1. มา อนุสสะเวนะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังบอกตามๆ กันมา เช่น การเล่าข่าว ไม่ว่าทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต SMS หรือ อื่นๆ

2. มา ปรัมปรายะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ กันมาอย่างปรัมปรา เช่น ความเชื่อทั้งหลาย ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ซึ่ง ต้องใช้การพิจารณาด้วยปัญญาให้ถ่องแท้ ถ้าหากจะนำไป ประมวลเป็นองค์ความรู้

3. มา อิติกิรายะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ เช่น ข่าวลือ ทั้งหลาย

4. มา ปิฎกสัมปะทาเนนะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ คำว่า ปิฎก ในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เรา เรียกว่าตำรา สำหรับพระพุทธศาสนา ก็คือ บันทึกคำสอนที่เขียนไว้ในใบลาน เอามารวมกันไว้เป็นชุดๆ เรียก ไตรปิฎก แม้แต่ในบันทึกทางศาสนา ก็ยังต้องใช้ การพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา ก่อนจะปลงใจเชื่อ

5. มา ตักกะเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยตรรกะ ด้วยการใคร่ครวญตามวิธีที่เรียกว่า ตรรกะ เพราะว่าตรรกะก็ยังผิดได้ ในเมื่อเหตุผลหรือวิธีใช้เหตุผลมันผิดอยู่

6. มา นะยะเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอนุมาน ด้วยเหตุผลว่าสมเหตุสมผลทางนัยยะ

7. มา อาการะปะริวิตักเกนะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ด้วยการตรึกเอาตามอาการ คือ ตามความคุ้นเคย ที่เรียกกันว่า common sense หรือ สามัญสำนึก

8. มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน อย่าได้รับเอาเพราะว่าสิ่งนั้น ทน ได้ต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน ตัวเองมีความเห็นอย่างไร ถ้าเขามาสอนด้วย คำสอนชนิดที่เข้ากันได้กับความเห็นของตัวเอง ก็อย่าเพิ่งถือเอาว่าสิ่งนั้นถูก เพราะว่าทิฏฐิของตัวเอง ก็ผิดได้

9. มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ เพราะเหตุว่าผู้พูดมีลักษณะ น่าเชื่อถือ มีคำพูด มีลักษณะท่าทางที่น่าเชื่อ

10. มา สัมโณ โน คะรูติ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านนี้เป็นครูของเรา แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นครูของเรา ก็ไม่ให้เชื่อ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ให้เชื่อ แม้ว่า เป็นคำสอนของท่าน


ท่านให้ใช้ปัญญา ไตร่ตรอง ลองทำ ลองปฏิบัติ เมื่อได้ผลจริง จึง เชื่อ ถือ เอาตามนั้น

เรียบเรียง : ยรรยง สินธุ์งาม

อ้างอิง :


พระธรรมปิฎก,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม , สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , พ.ศ. 2546. หน้า 232
พระธรรมปิฎก , พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ , สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พ.ศ. 2546. หน้า 13

วรภัทร์ ภู่เจริญ, ดร., คิดอย่างเป็นระบบ และ เทคนิคการแก้ปัญหา, สำนักพิมพ์ อริยชน , หน้า 190-191


http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/kalamasutta.htm

1 ความคิดเห็น:

แสดงความเห็นให้รู้ว่าคุณมาชมกันหน่อยครับ