เมื่อไม่กี่วันได้ลองตั้งใจตามท่านแม่ไปนั่งสมาธิหลังจากที่ครั้งหนึ่งตั้งใจไปแต่ก็ทำไม่สำเร็จ ได้ครึ่งวันก็ถอนตัว ไปนอนที่โรงแรมรอรับท่านขากลับ คราวนั้นจะว่าอ้างก็เอาเถิด เพราะคืนก่อนไปทำงานจนหามรุ่ง พอไปนั่งก็เกิดอาการหลายอย่างทั้งง่วงจนทรงตัวไม่ไหว ทั้งเมื่อยไปหมดขยับอยุ่หลายทีก็ไม่รอดต้องลาพระพี่เลี้ยงไปแบบใจคิดว่าเรานี้คงบาปหนอที่ไม่สามารถนั่งทำใจให้บุญได้ ล้มเลิกไปนาน ไปผจญบาปเคราะห์ใหญ่ พอผ่านมาได้ก็พยายามปรับจิตเตรียมใจอยู่นาน อีกทั้งเวลาก็ไม่เอื้อเสียที งานรุ่มเร้ามาก จนได้ตามท่านแม่ไปเสียที ในใจนั้นตั้งไว้ที่ต้องทำให้ได้ อันนี้เป็นประการแรกก่อน จะสงบแค่ไหนยังไม่ได้หมายไปถึงประการนั้น เพราะสิ่งที่เรารู้เราแต่แรกคือเราต้องชนะเราให้ได้ก่อน เพราะข้ออ้างมันเยอะ อ้างนั้นอ้างนี้มาจนนาน ยังไม่หวังว่าจะต้องรู้ซึ้งใดๆ ขอจุดเริ่มที่กายเราใจเราทำตามที่ตั้งใจให้ได้ก่อน ครั้งนี้ขอมาแบบให้สมที่ตั้งใจเป็นพอ
วันแรก หวั่นๆเล็กน้อยกลัวจะทำไม่ได้อีก (แหม มารนี้มันตามเราไม่ลดละเลยนะ ) แต่เป็นไงเป็นกันฉันจะทำให้ได้ เอาโทรศัพท์ไปเก็บไว้ไกลๆ ได้ที่นั่งที่เหมาะ แล้วเราก็เริ่มกันเลย พระท่านก็ว่าไปชี้ทางไปเรื่อยๆตามหลักของท่าน ไอ้เราก็เริ่มต่อสู้กับสิ่งแรกเลยก็คือความเมื่อย เมื่อยจัง พระท่านเหมือนจะรู้ ท่านก็บอกเมื่อยก็ขยับและให้รู้ว่าเมื่อย (เมื่อยจริงหนอเมื่อยจริงหนอ) เราก็พยายามจับจิตตามใจไปเรื่อยๆ อย่างที่บอกคราวนี้มาเพียงตั้งใจให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ก่อนเป็นพอ การที่คิดอย่างนี้เลยทำให้ดีไม่เคร่งเครียดเกินไป นั่งฟังพระท่านสอนวิปัสสนากรรมฐานไปเรื่อยๆ ง่วงสลับเมื่อยไปพลางๆ สาระที่ได้รับจะเอามาบอกกล่าวประมาณนี้
หลักใหญ่ในการปฏิบัติวิปัสสนาฯ มีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ
อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
สติมา มีสติ คือระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร
สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือขณะนี้ทำอะไรอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
วิธีปฏิบัติกรรมฐานเบื้องต้น (คัดมาจากจากหนังสือระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี)
การเดินจงกรม
ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า “ยืนหนอ” ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง
แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คำว่า “ยืน” จิตวาดมโนภาพร่างกาย จากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดคำว่า “ยืน” จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนดกลับไปกลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย
เสร็จแล้ว ลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๑ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” กำหนดในใจ คำว่า “ขวา” ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน “ย่าง” ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้า ยังไม่เหยียบพื้น คำว่า “หนอ” เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” คงปฏิบัติ เช่นเดียวกันกับ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” ระยะก้าวในการเดิน ห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัว ขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด “ยืนหนอ” ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ทำความรู้สึกโดยจิต สติ รู้อยู่ตั้งแต่กลางกระหม่อม แล้วกำหนด “ยืนหนอ” ๕ ครั้ง เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงปลายเท้า เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา “ยืนหนอ” ๕ ครั้ง แล้วหลับตา ตั้งตรง ๆ เอาจิตปักไว้ที่กระหม่อม เอาสติตาม ดังนี้ “ยืน.....” (ถึงสะดือ) “หนอ.....” (ถึงปลายเท้า) หลับตาอย่าลืมตา นึกมโนภาพ เอาจิตมอง ไม่ใช่มองเห็นด้วยสายตา “ยืน……” (จากปลายเท้าถึงสะดือ หยุด) แล้วก็ “หนอ…….” ถึงปลายผม คนละครึ่ง พอทำได้แล้ว ภาวนา “ยืน….หนอ....” จากปลายผม ถึงปลายเท้าได้ทันที ไม่ต้องไปหยุดที่สะดือ แล้วคล่องแคล่วว่องไว ถูกต้องเป็นธรรม
การนั่ง
กระทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนด “ยืน... หนอ...” อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า “ปล่อยมือหนอ ๆ ๆ ๆ ๆ” ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุดเวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริง ๆ เช่น “ย่อตัวหนอ ๆ ๆ ๆ” “เท้าพื้นหนอ ๆ ๆ” “คุกเข่าหนอ ๆ ๆ” “นั่งหนอ ๆ ๆ” เป็นต้น
วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือ ขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า “พอง หนอ” ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า “ยุบ หนอ” ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับ อยู่ที่พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้องให้มีความรู้สึกตามความ เป็นจริงว่าท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอน จะต้องมีความอดทน เป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บ ปวด เมื่อย คัน ๆ เกิดขึ้น ให้หยุดเดิน หรือหยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า “ปวดหนอ ๆ ๆ” “เจ็บหนอ ๆ ๆ” “คันหนอ ๆ ๆ” เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไป จิต เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สินหรือคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่พร้อมกับกำหนดว่า “คิดหนอ ๆ ๆ ๆ” ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนด เช่นเดียวกันว่า “ดีใจหนอ ๆ ๆ ๆ” “เสียใจหนอ ๆ ๆ ๆ” “โกรธ หนอ ๆ ๆ ๆ” เป็นต้น (ซึ่งขอบอกตรงๆอย่างไม่อายเลยว่าทำไม่ได้ ถามผู้ชำนาญการในภายหลังก็บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมือใหม่ จำได้วันนั้นกลับเห้นเป็นเรื่องสนุกไปคือพยายามนั่งจับจิตที่แสนจะวอกแว่กอยู่นานเท่าไหร่ก็ไม่หยุด เลยเพลินกับการจับจิตแบบคิดในใจว่าเมื่อไหร่เจ้าจะหยุดเสียที อันนี้ก็บอกกันตรงๆเลยว่ายังจับจิตไม่ค่อยได้ ไม่อยากจะได้ชื่อว่าพอไปนั่งกับเขาหน่อยก็เอามาอวดคนนั้นคนนี้)
เวลานอน
เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่า “นอนหนอ ๆ ๆ ๆ” จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับ อยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า “พอง หนอ” “ยุบ หนอ” ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่า จะหลับไปตอนพอง หรือตอนยุบ อิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา (อันนี้ก็นอนหนออยู่นาน สงสัยแปลกที่)
สรุปการกำหนดต่าง ๆ พอสังเขป ดังนี้
๑. ตาเห็นรูป จะหลับตาหรือลืมตาก็แล้วแต่ ให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า เห็นหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้ ถ้าหลับตาอยู่ ก็กำหนดไปจนกว่าภาพนั้นจะหายไป
๒. หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า เสียงหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเสียง ก็สักแต่ว่าเสียง ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๓. จมูกได้กลิ่น ตั้งสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า กลิ่นหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ากลิ่น ก็สักแต่ว่ากลิ่น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสีย
๔. ลิ้นได้รส ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ารส ก็สักแต่ว่ารส ละความพอใจและความไม่พอใจ ออกเสียได้
๕. การถูกต้องสัมผัส ตั้งสติไว้ตรงที่สัมผัส กำหนดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๖. ใจนึกคิดอารมณ์ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความนึกคิดจะหายไป
๗. อาการบางอย่างเกิดขึ้น กำหนดไม่ทัน หรือกำหนดไม่ถูกว่า จะกำหนดอย่างไร ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการนั้นจะหายไป
รายละเอียดเพิ่มเติมขอให้ไปตาม ลิ้งค์ได้เลยครับ http://www.jarun.org/v6/th/dhamma-meditation.html
บทสรุปที่ได้ ก็คือเราสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้เมื่อก่อนจนได้อันนี้เป็นพอก่อน ถ้าท่านไม่เคยไปจะไม่รู้ว่ากว่าจะผ่านไปในหนึ่งวันมันยากมากกับการที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง ส่วนเรื่องใจสงบอันนี้ไม่ได้ไปเท่าไหร่อย่างที่บอกมัวแต่สนุกกับการจับความคิดที่วิ่งเป็นลิงไปทั่วแต่ได้แนวทางไปใช้ในการกำหนดใจ สมาธิก็นับว่าพอถึงจะไม่ได้สงบเสียเท่าไรก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ได้เริ่มจุดเทียนในใจบ้างแล้ว ได้พาร่างกาย พาใจมาในทางที่สงบได้บ้างแล้ว ทางที่ชอบที่ควร