ชีวิตมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ



love is the flower for which love is the honey : victor hugo

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระราชวังบางปะอิน


ความเป็นมา
เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากเป็นที่ประสูติของพระองค์ ใช้เป็นสถานที่ที่ทรงใช้ประทับแรม ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยเป็นพระราชวังใกล้พระนครนั่นเอง เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่สอง พระราชวังบางปะอินถูกปล่อยให้รกร้างมาระยะหนึ่ง พระราชวังบางปะอินกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งเมื่อสุนทรภู่ ซึ่งได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปนมัสการ พระพุทธบาทสระบุรี ได้ประพันธ์ถึงพระราชวังบางปะอินไว้ในนิราศพระบาท
รำพึงพายตามสายกระแสเชี่ยว ยิ่งแสนเปลี่ยวเปล่าในฤทัยถวิล
สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางเกาะอิน กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่ ได้ยินแต่ยุบลในหนหลัง
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง กษัตริย์ครั้งครองกรุงศรีอยุธยา
จนกระทั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เริ่มการบูรณะพระราชวังขึ้น และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้บูรณะครั้งใหญ่ โดยสร้างพระที่นั่ง พระตำหนัก และตำหนักต่าง ๆ ขึ้นมากมายเพื่อใช้เป็นที่ประทับ รับรองพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ ในปัจจุบัน พระราชวังบางปะอินอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และยังใช้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย
ที่ตั้ง-การเดินทางไปถึง
ตั้งอยู่ในอำเภอบางปะอิน ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กม. โดยใช้เส้นทางที่แยกจากเจดีย์สามปลื้มผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง ไปยังบางปะอิน หากมาจากกรุงเทพฯ ตามถนนพหลโยธิน จะมีทางแยกซ้ายบริเวณกม.ที่35 ไปพระราชวังบางปะอินเป็นระยะทางอีก 6 กม. นอกจากนี้ยังมีบริการรถโดยสารจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ และรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมายังอำเภอบางปะอินทุกวัน พระราชวังบางปะอิน เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ไม่เว้นวันหยูดราชการ) ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น.อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก-นิสิต นักศึกษา (ในเครื่องแบบ)-พระภิกษุ สามเณร 20 บาท นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 50 บาท ผู้ที่ประสงค์จะเข้าชมโปรดแต่งกายสุภาพ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักพระราชวังบางปะอิน โทร. (035) 261044, 261549
สถานที่น่าสนใจ
พระที่นั่งไอศวรรยทิพยอาสน์

เท่าที่ค้นๆดูสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แล้วต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 5เสด็จพระราชดำเนินผ่านพระราชวังบางปะอิน เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสพระนครศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งขึ้นใหม่ โดยใช้เครื่องไม้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ณ ตำแหน่งเดิม รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งกลางน้ำหลัง นี้ จำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วใกล้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง (เป็นพลับพลาที่ใช้ในการส่งเสด็จและใช้ในการโสกันต์) ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถือว่ามีความงามเป็นเลิศทั้งด้านทรวดทรงและรายละเอียดการตกแต่งทาง สถาปัตยกรรม กล่าวคือมีลักษณะเป็นพลับพลาโถงแบบปราสาทจตุรมุขลดชั้น หลังคาเป็นเครื่องยอดทรงมณฑปจอมแห และ ต่อมาอีกรัชกาลที่ 6 ทรงให้บูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งอีกครั้ง โดยได้เปลี่ยนพื้นและเสาเป็นแบบคอนกรีต แทนเครื่องไม้ซึ่งผุง่ายเมื่ออยู่ในน้ำ พร้อมทั้งให้สร้างพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวขนาดเท่าพระองค์จริงในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบกมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์จนถึงปัจจุบัน
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน สถาปัตยกรรมแบบยุโรปทาสีส้มแซมเขียวหลังงาม องค์หนึ่ง จัดเป็นพระที่นั่งประธานท่ามหมู่พระที่นั่งทั้งหมดในพระราชวังบางปะอิน เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้างของนายช่างอิตาเลียนนาม ซินยอร์กราซี (มิสเตอร์กราซี) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๔๑๙ พร้อม ๆ กับพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์
ซินยอร์กราซีเลือกเอาศิลปะนีโอคลาสสิก ในรูปแบบนีโอเรอเนซองซ์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ทั่วโลกในขณะนั้น มาใช้กับพระที่นั่งองค์นี้ หัวใจของสถาปัตยกรรมสมัยนีโอคลาสสิกก็คือ การหวนกลับไปเลียนแบบความรุ่งโรจน์แห่งอดีตในยุคคลาสสิก "กรีก-โรมัน" ดังปรากฏที่มุขด้านหน้าของพระที่นั่งได้ทำเลียนแบบวิหารของกรีกสมัยเฮเลนนิ สติก (หรือกรีกตอนปลาย) นั่นคือการใช้หัวเสาแบบโยนิก (ตกแต่งด้วยวงโค้งก้านขด) และหัวเสาแบบคอรินเธียน (เป็นรูปใบอะคันธัสซ้อนกันหลายชั้น) รองรับหน้าบันรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ในขณะเดียวกันก็ได้มีการนำเอาศิลปะเรอเนซองซ์สกุลช่างฝรั่งเศส มาผสมผสานด้วยในส่วนของหอคอยขนาดย่อมที่มีหลังคาทรงพีระมิดตัด ปลายยอดเป็นมงกุฎซึ่งประดับอยู่ตามมุมอาคาร
ทั้งนี้ซินยอร์กราซีคงเห็นว่า ลำพังเพียงแค่ชาลามุขแบบนีโอคลาสสิกกรีกนั้น ยังดูไม่หรูหราพอสำหรับสถานภาพของ "ท้องพระโรง" พระที่นั่งวโรภาษพิมานมีความสูงเพียงชั้นเดียว ลักษณะเป็นห้องโถงแบบใช้รับรองแขก ปัจจุบันยังคงใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จแปรพระราชฐาน สำหรับการตกแต่งภายในของพระที่นั่งวโรภาษพิมานนั้น เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ภายในมีสิ่งที่น่าดูน่าชมคือ อาวุธโบราณ ตุ๊กตาหินสลักด้วยงานฝีมือประณีต ภาพเขียนสีน้ำอิงพระราชพงศาวดาร ภาพเขียนจากวรรณคดีไทยเรื่อง อิเหนา พระอภัยมณี สังข์ทอง จันทโครพ และสิ่งประดับอันล้ำค่ายิ่ง ได้แก่ แจกันสลับสีเขียนลายทองขนาดใหญ่ฝีมือช่างชิ้นเอกอุของญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งล้วนเป็นของบรรณาการแด่องค์พระพุทธเจ้าหลวงทั้งสิ้น



พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เป็นพระที่นั่งเรือนไม้หมู่ทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีเฉลียงตามแบบชาเลตของสวิส ทาสีเขียวอ่อนแก่สลับกันด้วยงานช่างที่ประณีต สิ่งประดับตกแต่งภายใน ประกอบด้วย เครื่องไม้มะฮอกกานีจัดสลับลายทองทับที่สั่งจากยุโรปทั้งสิ้น นอกนั้นเป็นสิ่งของหายากในประเทศ อันเป็นเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาเขตรอบๆ มีสวนดอกไม้สวยงาม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรได้เกิดเพลิงไหม้ ขณะที่มีการซ่อมรักษาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ทำให้พระที่นั่งถูกทำลายไปกับกอง เพลิงหมดสิ้นทั้งองค์คงเหลือแต่หอน้ำ ปัจจุบันได้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมทุกประการ แต่เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นอาคารคอนกรีตแทน


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ ปัจจุบันพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรพระที่นั่งองค์ใหม่นี้ ได้ทรงมีแนวพระราชดำริว่า พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรน่าจะใช้เป็นสถานที่รับรอง พระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงพระที่นั่งขึ้นใหม่ให้งดงามและโอ่โถงขึ้น โดยหม่อมหลวงท้าวเทวา เทวกุล ได้เป็นสถาปนิกออกแบบต่อเติมอาคารหลังใหม่เมื่อปี ๒๕๓๖ สร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบเรอเนซองซ์ของฝรั่งเศส
หอวิฑูรทัศนา ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรและพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในพระราชวังบางปะอิน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2424 พร้อมทั้งได้พระราชทานนามหอนี้ว่า "หอวิฑูรทัศนา"


ใช้สำหรับเป็นที่เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรภูมิประเทศโดยรอบของพระราชวัง กล่าวกันว่าเมื่อแรกสร้างนั้น ยังมองเห็นช้างป่า เป็นโขลง ๆ เดินอยู่ตามชายทุ่ง หรือถ้าขึ้นไปดูในช่วงฤดูทำนาก็จะเห็นความงามของทุ่งนาในช่วงต่าง ๆ จนมีคำกล่าวว่า "ดูนาที่ไหนเล่า ไม่เท่าที่บางปะอิน"
หอวิฑูรทัศนามีความสูง 30 เมตร ลักษณะเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น 12 เหลี่ยม ยอดหอคอยคลุมด้วยหลังคารูปครึ่งวงกลม มีสถาปัตยกรรมผสมผสานของยุโรป ตัวอาคารทาสีแดงสลับเหลือง ภายในมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นบน 112 ขั้น โดยแบ่งเป็น จากพื้นชั่นล่างขึ้นไปยังชั้นที่ 1 จำนวน 18 ขั้น จากชั้นที่ 1 ขึ้นไปยังชั้นที่ 2 จำนวน 55 ขั้น และจากชั้นที่ 2 ขึ้นไปยังชั้นที่ 3 จำนวน 39 ขั้น

เพื่อจรรโลงความงามของสถาปัตยกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความเห็นให้รู้ว่าคุณมาชมกันหน่อยครับ